หลายคนคงเคยได้ยินกันว่า ยาต่าง ๆ ที่หมอให้มานั้น ต้องกินให้หมดทุกตัว ไม่อย่างนั้นจะไม่หายจากโรค แต่จริง ๆ แล้ว มีแค่ยาบางชนิดเท่านั้นที่ต้องกินให้หมด
 
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่ามันคือยาตัวไหน?
 
โดยปกติแล้ว เวลาคุณหมอหรือคุณเภสัชกรจ่ายยาให้เรา จะมีการแนะนำการใช้ยาอยู่แล้วว่ายาแต่ละตัวใช้เพื่ออะไร ควรกินตอนไหน ปริมาณเท่าใด กินเมื่อมีอาการ หรือต้องกินจนหมด ซึ่งนอกจากเภสัชกรจะกำชับเราตอนจ่ายยาแล้ว ก็จะมีเขียนไว้ที่ฉลากยาด้วยเหมือนกัน
 
คำถามต่อมาคือ แล้วยากลุ่มไหนบ้างล่ะที่ต้องกินจนหมด?
 
ถ้าจะให้แบ่งง่าย ๆ ก็มีอยู่ 2 กลุ่มด้วยกัน
 
กลุ่มแรกคือ ยาของคนที่มีโรคประจำตัว เพราะหน้าที่หลักของยากลุ่มนี้คือใช้เพื่อคุมอาการของโรค ดังนั้น ไม่ควรหยุดหรือขาดยาเด็ดขาด เช่น ยาในกลุ่มโรคความดัน หรือยาไขมัน กลุ่มนี้ถ้าหยุดแค่ช่วงสั้น ๆ อาจไม่เห็นผลอะไรมากนัก แต่ในระยะยาวอาจมีปัญหาได้ เนื่องจากการที่เราควบคุมความดันเลือด ระดับไขมันหรือน้ำตาลในเลือดไม่ได้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมองได้ในอนาคต  หรือหากเป็นกลุ่มยากันชักล่ะก็จะอันตรายมาก เพราะการขาดยาแค่ไม่กี่มื้อ อาจทำให้อาการชักกำเริบ หรือบางโรคที่รุนแรง การหยุดยาไป ก็อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย
 
ดังนั้น หากเรามีโรคประจำตัวล่ะก็ ควรรับประทานยาต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ไม่ควรหยุดยาเองเด็ดขาด นอกจากนี้ ควรไปพบแพทย์ตามกำหนด เพื่อติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง
 
นอกจากยาของคนที่มีโรคประจำตัวแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่คนมักหยุดกินโดยพลการ นั่นคือกลุ่มยาปฏิชีวนะ หรือที่เรารู้จักกันในนาม ยาฆ่าเชื้อ นั่นแหละ โดยยากลุ่มนี้มักมีการกำหนดระยะเวลาในการกินเอาไว้ ส่วนใหญ่ก็ประมาณ 7-14 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ หรือตำแหน่งของการติดเชื้อ แต่ในบางกรณี เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรค อาจต้องกินยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายเดือน
 
สาเหตุที่คนมักหยุดกินยากลุ่มนี้ก่อนที่ยาจะหมด เนื่องจากเห็นว่า อาการป่วยที่เป็นอยู่ดีขึ้นแล้ว เช่น อาการไข้ ไอ น้ำมูก ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงนั้น การที่เราเห็นว่าอาการของโรคดีขึ้น เกิดจากการที่เชื้อมันลดลงเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากการที่เชื้อตายทั้งหมด ซึ่งถ้าเชื้อที่เหลือรอดพวกนี้มีชีวิตอยู่ต่อไป ก็อาจพัฒนาตัวเองกลายเป็นเชื้อดื้อยาได้ 
 
เมื่อเชื้อดื้อยาทำให้การรักษายากขึ้น จากไม่สามารถใช้ยาตัวเดิมในการรักษาได้ เป็นต้องใช้ยาตัวอื่นที่รุนแรงขึ้น และบางตัวก็มีผลข้างเคียงกับร่างกายมากกว่าปกติ เช่น อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดไตวายได้มากยิ่งขึ้น
 
ดังนั้น ถ้าเผลอหยุดยากลุ่มนี้ ก็ให้กินทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหยุดไปหลายวัน ก็สามารถกินต่อเนื่องไปจนยาหมดได้เช่นกัน แต่ควรสังเกตตัวเองต่อไปด้วย เพราะถ้ายาหมดแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ แล้วเล่าเรื่องการหยุดยาให้ฟังเพื่อหาทางรักษาต่อไป
 
สุดท้ายหลักการง่าย ๆ ในการใช้ยาก็คือ ให้ฟังคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรให้ดี และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ยาที่เราใช้เกิดประสิทธิภาพและปลอดภัยกับร่างกายให้มากที่สุด

ขอขอบคุณที่มา https://www.rama.mahidol.ac.th/