ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ในระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดงใดๆ แต่ต่อมาอาจแสดงอาการต่างๆ เช่น มีภาวะอ้วน การทำงานของหัวใจผิดปกติ ปวดตามข้อต่างๆ หรือเกิดภาวะมีบุตรยาก โดยวิธีการที่นิยมใช้ในการวินิจฉัยภาวะนี้ คือ การตรวจวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด (Thyroid function test)
 

ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์มีอาการอย่างไร?
อาการของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ขึ้นกับความรุนแรงของการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ โดยการดำเนินไปของภาวะนี้เป็นไปอย่างช้าๆ ใช้เวลาหลายปีถึงแสดงอาการ ซึ่งอาการที่อาจพบได้ มีดังนี้
อ่อนเพลีย
ขี้หนาว
ท้องผูก
ผิวแห้ง
น้ำหนักขึ้น
ใบหน้าบวมโต
เสียงแหบ
ไม่มีแรง
ปวดกล้ามเนื้อ
คอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น
ปวดตึงข้อ ข้อแข็งขยับได้น้อยลง บวมบริเวณข้อ
ประจำเดือนผิดปกติ
ผมแห้ง ผมบางลง
หัวใจเต้นช้าลง
มีอาการซึมเศร้า
ความสามารถในการจำลดลง


ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์มีสาเหตุมาจากอะไร?
สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์มาจากการที่ต่อมไทรอยด์ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้หรือสร้างได้น้อย แต่อาจมีสาเหตุจากปัจจัยอื่นๆ ดังนี้

Hashimoto’s thyroiditis: โรคนี้จัดเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองชนิดหนึ่ง เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายผลิตแอนติบอดีออกมาเป็นจำนวนมาก แล้วมาทำลายเนื้อเยื่อต่างๆ รวมถึงต่อมไทรอยด์ของเราเอง
การตอบสนองที่มากเกินไปในการรักษาภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์: พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป ซึ่งมักจะได้รับการรักษาด้วยการกลืนสารไอโอดีนกัมมันตรังสี หรือรับประทานยาต้านไทรอยด์
การผ่าตัดต่อมไทรอยด์
การใช้รังสีรักษา (Radiation therapy) ในผู้ป่วยโรคมะเร็งบริเวณศีรษะหรือลำคอ
ยาบางชนิด เช่น Lithium ซึ่งใช้รักษาโรคทางจิตเวช
โรคที่เป็นมาแต่กำเนิด เช่น โรคต่อมใต้สมองพิทูอิตารี (Pituitary disorder)
การตั้งครรภ์
ภาวะขาดไอโอดีน
กลุ่มเสี่ยงของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์มีอะไรบ้าง?
แม้ว่าทุกคนจะมีโอกาสการเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ แต่จะมีโอกาสมากขึ้นถ้าหาก
เป็นเพศหญิง
อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
มีโรคแพ้ภูมิตัวเอง
มีประวัติได้รับรังสีรักษา หรือรับยาต้านไทรอยด์ หรือรับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์
กำลังตั้งครรภ์ หรือภายใน 6 เดือนหลังคลอด
 อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหากไม่รีบไปพบแพทย์?
ต่อมไทรอยด์โต (Goiter)
โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด
ปัญหาทางด้านสุขภาพจิต
ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนปลาย เช่น การควบคุมกล้ามเนื้อแขนขา เกิดอาการเหน็บชา หรือรู้สึกเหมือนมีของมีคมทิ่มแทง
โรค Myxedema เป็นโรคที่พบได้น้อย แต่มีความรุนแรง โดยมีอาการคือ ไม่สามารถทนต่อความหนาวได้ ง่วงซึม อาจถึงขั้นหมดสติได้
เกิดภาวะมีบุตรยาก

การตรวจเลือดสำหรับวินิจฉัยภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์
การวินิจฉัยภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ขึ้นกับอาการที่แสดง และผลการตรวจเลือด โดยวัดระดับฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (Thyroid-stimulating hormone, TSH) และอาจวัดระดับของฮอร์โมนไทรอยด์โดยตรง (Thyroxine) โดยผลตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดที่แสดงถึงภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ คือ การที่มีระดับ Thyroxine ที่ต่ำ และมีระดับ TSH ที่สูง ซึ่งแสดงถึงการไม่ตอบสนองของต่อมไทรอยด์


การรักษาภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ทำอย่างไรได้บ้าง?
การรักษาภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์โดยทั่วไปเป็นการให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน ที่นิยมใช้กันเป็นฮอร์โมนไทรอยด์สังเคราะห์ (Levothyroxine) ซึ่งให้ผลการรักษาที่ค่อนข้างดี แต่จำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้ประเมินและตรวจเป็นระยะๆ เนื่องจากหากได้รับปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ได้


เมื่อไหร่ที่ควรจะพบแพทย์?
หากรู้สึกเพลีย เหนื่อย แบบไม่มีสาเหตุมาก่อน หรือมีอาการของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ดังที่กล่าวข้างต้น เช่น ผิวแห้งมาก ซีด ใบหน้าบวมโต ท้องผูก หรือมีเสียงแหบ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นเพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
 
ขอขอบคุณ
https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/october-2020/hypothyroidism