ผู้หญิงที่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอด ควรรู้เรื่องนี้ไว้ก่อนใช้ มิฉะนั้นอาจสร้างอันตรายต่อร่างกายระหว่างใช้ได้
แม้ว่าผ้าอนามัยแบบสอดอาจไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทยมากนัก แต่ยังมีผู้หญิงไทยจำนวนไม่น้อยที่หันมาใช้ผ้าอนามัยประเภทนี้ เพราะนอกจากจะให้ความสะดวกสบายในการสวมใส่ที่ไม่เทอะทะเกะกะแล้ว ยังสามารถสวมใส่แล้วทำกิจกรรมต่างๆ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น ว่ายน้ำ กีฬาทางน้ำ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นผ้าอนามัยแบบสอดที่คนไทยอาจไม่คุ้นเคยมากเท่าแบบแผ่น การใช้งานที่ไม่ระมัดระวังจึงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้โดยไม่รู้ตัว
 
ข้อควรระวังเมื่อใช้ “ผ้าอนามัยแบบสอด”
 
ผ้าอนามัยแบบสอด ไม่ควรสวมใส่นานเกิน 8 ชั่วโมง เพราะอาจเพิ่มโอกาสภาวะช็อกติดเชื้อจากสารพิษของแบคทีเรีย (toxic shock syndrome : TSS) ที่เป็นภาวะรุนแรงมากที่สุดอันหนึ่งของอายุรศาสตร์วิกฤต และเราเรียกชื่อ TSS จากการสอดผ้าอนามัยแบบนี้ว่า menstrual toxic shock syndrome (MTSS)
 
TSS เกิดจากการกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มากมายมหาศาล จากการกระตุ้นจากส่วนของแบคทีเรียที่เรียกว่า super-antigen กับเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิด T-cell กระตุ้นแบบไม่เฉพาะตัวและกระตุ้นทั่วไปหมด ทำให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบมากมายมหาศาล มากกว่าช็อกติดเชื้อเสียอีก คราวนี้เรามาดูลักษณะสำคัญของ TSS ตามเกณฑ์มาตรฐานของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐที่ใช้เป็นเกณฑ์การวินิจฉัยในปัจจุบัน
 
1.ความดันโลหิตซิสโตลิก (ตัวบน) ต่ำว่า 90  
2.พบอวัยวะที่เกี่ยวข้องมีผลกระทบหรือล้มเหลวอย่างน้อย 2/6 อย่าง
 
ค่าครีอะตินีนของไตเกิน 2 หรือมากกว่าเดิม 2 เท่า
เกล็ดเลือดต่ำว่าแสน หรือมีภาวะ DIC หรือสารการแข็งตัวเลือดไฟบริโนเจนต่ำ
ค่า AST,ALT มากกว่าสองเท่าของค่าสูงสุดหรือมากกว่าสองเท่าจากเดิม
มีภาวะหายใจล้มเหลว ARDS
มีผื่นผิวหนังทั่วตัวและผิวหนังลอกเป็นวงกว้าง
มีการตายของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง
3.ตรวจพบหลักฐานของเชื้อโรคที่ทำให้เกิด TSS
การรักษาต้องรวดเร็ว เต็มพิกัด ทั้งการช่วยหายใจ ให้สารน้ำ ยากระตุ้นความดัน ยาฆ่าเชื้อ (clindamycin+betalactam) และสุดท้ายคือให้แอนติบอดี IVIG เพื่อไปจับสารพิษของแบคทีเรีย
ความเกี่ยวเนื่องกับผ้าอนามัยแบบสอดคือ ในช่องคลอด จะมีแบคทีเรีย streptococcus เป็นจำนวนมาก และแบคทีเรีย streptococcus นี้เป็นหนึ่งในแบคทีเรียที่ทำให้เกิด TSS ได้
 
 
จากรายงานผู้ป่วยและรวบรวมหลักฐานพบว่า ผู้ที่เป็น MTSS มักจะสอดผ้าอนามัยคาไว้นาน โดยเฉพาะสอดข้ามคืนที่นอนยาวนานกว่า 8 ชั่วโมง หรือสอดคาไว้นานเกินกำหนด มากกว่า 6 ชั่วโมง หรือไม่อ่านคำแนะนำข้างซอง โดย 3 ปัจจัยนี้เพิ่มโอกาสการเกิด MTSS มากกว่าคนที่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดที่ปฏิบัติถูกต้อง ถึง 2.2 เท่าเลยทีเดียว และมีนัยสำคัญทางสถิติ
 
อีกประการที่เกี่ยวข้องแต่หลักฐานน้อยกว่า คือ ผ้าอนามัยแบบสอดที่ซึมซับดีเป็นพิเศษจะสะสมแบคทีเรียในช่องคลอดและมีโอกาสเกิด MTSS สูงกว่าแบบซึมซับธรรมดา
 
จึงเป็นที่มาและคำแนะนำให้เปลี่ยนผ้าอนามัยแบบสอดทุก 3-4 ชั่วโมง อย่าสอดนานเกิน 8 ชั่วโมง และปฏิบัติตามคำแนะนำข้างซองอย่างเคร่งครัด และออกมาเป็นข้อกำหนดในการจดทะเบียนว่าแบบสอดจะต้องมีเกณฑ์ของสารดูดซึมเป็นอย่างไรอีกด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลประกอบจาก :
เฟซบุ๊กเพจ อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว